พายุหมุนอื่น ของ ตา (พายุหมุน)

พายุหิมะในทวีปอเมริกาเหนือ พ.ศ. 2549 เป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างคล้ายตา เมื่อพายหมุนนอกเขตร้อนมีกำลังสูงสุด ทางตะวันออกของคาบสมุทรเดลมาร์วา
ดูบทความหลักที่: พายุหมุน

แม้ว่าจะมีเพียงพายุหมุนเขตร้อนที่มีโครงสร้างที่เรียกว่า "ตา" อย่างเป็นทางการ แต่ระบบลมฟ้าอากาศอื่น ๆ ที่สามารถแสดงลักษณะที่คล้าย ๆ กันนี้ได้[1][31]

ความกดอากาศต่ำขั้วโลก

ความกดอากาศต่ำขั้วโลก (Polar low) เป็นระบบลมฟ้าอากาศในระดับภูมิภาค โดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดเล็กกว่า 1,000 กม. (600 ไมล์) พบได้ใกล้กับขั้วโลก เหมือนกับพายุหมุนเขตร้อน ความกดอากาศต่ำจะก่อตัวขึ้นเหนือน้ำที่ค่อนข้างอุ่น และสามารถมีการพาความร้อนและลมที่เร็วในระดับพายุ (gale) หรือมากกว่าได้ ซึ่งจะแตกต่างจากธรรมชาติของพายุหมุนในเขตร้อน อย่างไรก็ตาม ความกดอากาศต่ำเหล่านี้สามารถพัฒนาขึ้นในอุณหภูมิที่เย็นกว่า และที่ละติจูดสูงกว่ามากได้ ความกดอากาศต่ำเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก และมีอายุสั้นกว่า โดยมีเพียงไม่กี่ระบบเท่านั้นที่มีอายุเกินหนึ่งวัน ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างเหล่านี้ ระบบความกดอากาศต่ำขั้วโลกนี้สามารถมีโครงสร้างที่คล้ายกับพายุหมุนเขตร้อนได้ โดยมีตาที่ปลอดโปร่งล้อมรอบด้วยกำแพงตา และแถบฝนหรือแถบหิมะ[32]

พายุหมุนนอกเขตร้อน

พายุหมุนนอกเขตร้อน (Extratropical cyclone) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งมีขอบเขตของมวลอากาศที่แตกต่างกัน พายุเกือบทั้งหมดที่พบในละติจูดกลางนั้นเป็นพายุนอกเขตร้อนในธรรมชาติ รวมไปถึงพายุนอร์อีสเทิร์นทวีปอเมริกาเหนือและพายุลมทวีปยุโรปด้วย ความรุนแรงที่สุดของพายุเหล่านี้ สามารถมี "ตา" ที่ปลอดโปร่งได้ด้วย ในบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำที่สุด แม้ว่ามันจะถูกล้อมรอบด้วยเมฆที่ต่ำกว่า และไม่มีการพาความร้อนในเมฆ และพบได้ใกล้กับด้านหลังปลายพายุ[33]

พายุหมุนกึ่งเขตร้อน

พายุหมุนกึ่งเขตร้อน (Subtropical cyclone) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีลักษณะของพายุหมุนนอกเขตร้อนบางส่วน และมีลักษณะของพายุหมุนเขตร้อนบางส่วน เช่นนี้ พายุหมุนกึ่งเขตร้อนจึงอาจมีตาพายุขณะที่ไม่ได้เป็นพายุหมุนเขตร้อนตามธรรมชาติอย่างแท้จริง พายุหมุนกึ่งเขตร้อนสามารถเป็นอันตรายได้อย่างมาก และทำให้เกิดลมแรง และคลื่นสูง และมักกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจึงได้เริ่มติดตามพายุหมุนกึ่งเขตร้อนนี้ด้วย และใช้การตั้งชื่อแบบเดียวกับพายุหมุนเขตร้อนในปี พ.ศ. 2545[34]

ทอร์นาโด

ทอร์นาโด (Tornado) เป็นพายุขนาดเล็กที่มีอำนาจการทำลายล้าง ซึ่งสร้างความเร็วลมที่พัดเร็วที่สุดในโลก ทอร์นาโดมีสองประเภทหลัก ได้แก่ ทอร์นาโดแบบกระแสวนเดี่ยว (Single-vortex tornado) ซึ่งมีการหมุนในแนวตั้งแบบเดี่ยวของอากาศ และทอร์นาโดแบบหลายกระแสวน (Multiple-vortex tornado) ซึ่งประกอบด้วย "กระแสวนแบบดูด" ขนาดเล็ก คล้ายกับทอร์นาโดขนาดเล็ก ซึ่งทั้งหมดจะหมุนรอบศูนย์กลางร่วม ทอร์นาโดทั้งสองประเภทนี้ ตามทฤษฏีระบุว่าทอร์นาโดมีศูนย์กลางของพายุที่สงบ ซึ่งทฤษฏีเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการสังเกตความเร็วลมโดยเรดาร์ตรวจอากาศดอปเพลอร์[35][36]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตา (พายุหมุน) ftp://ftp.library.noaa.gov/docs.lib/htdocs/rescue/... http://amsglossary.allenpress.com/glossary/search?... http://ams.confex.com/ams/27Hurricanes/techprogram... http://ams.confex.com/ams/pdfpapers/108319.pdf http://adsabs.harvard.edu/abs/1968MWRv...96..617H http://adsabs.harvard.edu/abs/1973JAtS...30.1565G http://adsabs.harvard.edu/abs/1976MWRv..104..418H http://adsabs.harvard.edu/abs/1998WtFor..13..172V http://adsabs.harvard.edu/abs/1999JAtS...56.1197S http://adsabs.harvard.edu/abs/2001JAtS...58.2196K